คุณรู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคุณทุกวันนี้ มีโอกาสเสี่ยงเป็น "โรคทรัพย์จาง" โดยไม่รู้ตัว...เคยคิดไหมว่าทำไมเราไม่มีเงินเก็บสักที มาลองเช็คพฤติกรรมทางการเงินของเรากันดีกว่า ว่าจะบริหารจัดการการเงินกันยังไงต่อไปดี
ใช้เงินฟุ่มเฟือย
หากทุกวันนี้เรายังใช้จ่ายเงินไปกับการลุ้นโชค เล่นพนัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมา สูบบุหรี่ ไปเที่ยว ไปสังสรรค์ ขยันช้อปปิ้ง ล้วนเป็นพฤติกรรมที่กำลังบั่นทอนการเงินของคุณให้ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีเงินเก็บ
มีเงินไม่พอจ่ายหนี้
สังเกตง่ายๆ ว่าหากใช้หนี้ไปแล้วมีเงินเหลือใช้น้อยมาก หรือบางคนรายได้ยังไม่พอจะใช้หนี้ได้ครบ แสดงว่ารายได้ของเราไม่ครอบคลุมรายจ่าย เป็นเพราะเรามีพฤติกรรมใช้เงินเกินตัว ใช้เงินเกินรายได้ของตัวเองจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเรื่อยๆ ทำให้เป็นหนี้ไม่รู้จบ ดังนั้นต้องรีบเคลียร์หนี้สิน เพื่อหลุดออกจากวงจรนี้ให้เร็วที่สุด
รายได้เพิ่มขึ้นแต่เงินเก็บไม่เพิ่มตาม
บางช่วงเวลาที่มีรายได้เข้ามามากกว่าปกติ เช่น ขายของได้เยอะขึ้น รับงานเพิ่มขึ้น แต่เรากลับใช้จ่ายเยอะตามไปด้วย แสดงว่าเราไม่ได้วางแผนการเงินให้รอบคอบ และมีพฤติกรรมใช้จ่ายตามใจตัวเองจนเกินไป ถ้ายังมี
พฤติกรรมแบบนี้อยู่ ท่าจะไม่ดีต่อสุขภาพทางการเงินแน่ๆ
ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน
คนที่มีอาชีพอิสระ ไม่ได้มีรายได้ประจำ ควรมีเงินเก็บไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน เผื่อมีเหตุต้องใช้เงินก้อน เช่น จ่ายค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนอื่นๆ ซึ่งหาก ณ วันนี้เรายังไม่มีเงินสำรองเลย หากในอนาคตต้องการใช้เงินแบบเร่งด่วน คงต้องอาศัยหยิบยืมเขาจนเป็นหนี้ขึ้นมาอีก
ไม่คิดออมเพื่ออนาคต
ถ้าทุกวันนี้ยังใช้เงินอย่างไร้แบบแผน และไม่เคยนึกถึงยามเกษียณว่า เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว จะหาเงินยังไงหรือจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ยังคงคิดว่าการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว ไว้ค่อยไปเก็บเงินตอนอายุมากๆ ช่วงใกล้เกษียณก็ได้ ให้พึงระวังสัญญาณอันตรายใกล้มาเยือนคุณแล้ว
ถ้าเช็คแล้วเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหลายข้อ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้จ่ายเงินโดยด่วน เพื่อลดความเสี่ยงโรคทรัพย์จาง เช่น หากมีหนี้ก็ควรรีบเคลียร์หนี้ให้จบ หรือหากยังมีนิสัยฟุ่มเฟือย ไม่เคยออมเงินเลย ก็ควรลด ละ เลิกพฤติกรรมเหล่านั้น แล้วหันมาเริ่มเก็บเงินอย่างมีวินัยตั้งแต่วันนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก
กองทุนการออมแห่งชาติ